เอสเธอร์ 1

1. ใน​รัช​สมัย​ของ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส คือ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ผู้​ทรง​ปกครอง​หนึ่ง​ร้อย​ยี่สิบ​เจ็ด​มณฑล​จาก​อินเดีย​ถึง​เอธิโอเปีย
2. ใน​สมัย​ที่​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ทรง​ครองราชย์​ที่​นคร​สุ​สา​ราช​ธานี
3. ปี​ที่​สาม​ใน​รัชกาล​ของ​พระองค์ พระองค์​พระราชทาน​งาน​เลี้ยง​แก่​บรรดา​เจ้านาย​และ​ข้า​ราช​บริพาร บรรดา​นาย​ทัพ​นายก​อง แห่ง​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย บรรดา​ขุน​นาง​และ​ผู้ว่า​ราชการ​มณฑล​มา​ร่วมงาน​เลี้ยง​เฉพาะ​พระ​พักตร์​ด้วย
4. พระองค์​ทรง​แสดง​ความ​มั่ง​คั่ง​และ​ความ​รุ่งเรือง​ของ​พระ​อาณาจักร ทั้ง​ความ​หรูหรา​ใน​ราช​สำนัก​อยู่​หลาย​วัน งาน​เลี้ยง​ดำเนิน​ไป​หนึ่ง​ร้อย​แปด​สิบ​วัน
5. เมื่อ​วัน​เหล่านี้​ผ่าน​ไป​แล้ว กษัตริย์​ยัง​พระราชทาน​การ​เลี้ยง​แก่​ประชาชน​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใน​นคร​สุ​สา​ราช​ธานี​ทั้ง​ผู้น้อย​ผู้ใหญ่​เป็น​เวลา​เจ็ด​วัน​ใน​พระ​ราช​อุทยาน
6. ซึ่ง​ประดับ​ด้วย​ม่าน​ผ้า​ฝ้าย​สี​ขาว​และ​สี​ม่วง​แดง​แขวน​บน​เสา​หิน​อ่อน​ด้วย​เชือก​ป่าน​สี​แดง​เข้ม​คล้อง​ห่วง​เงิน มี​เตียง​ทองคำ​และ​เงิน​ตั้ง​บน​พื้น​ลาด​ปูน​ฝัง​หิน​แดง หิน​อ่อน มุกดา​และ​พลอย​สี​ต่างๆ
7. เครื่องดื่ม​ก็​ริน​ใส่​ถ้วย​ทองคำ​หลาย​ชนิด เหล้า​องุ่น​ของ​กษัตริย์​มี​มากมาย​ตาม​พระทัย​กว้าง​ของ​พระองค์
8. พระองค์​ไม่​ทรง​บังคับ​ผู้ใด​ให้​ดื่ม แต่​ทรง​สั่ง​มหาดเล็ก​ให้​ทุก​คน​ดื่ม​ได้​ตาม​ความ​พอใจ
9. พระ​ราชินี​วัช​ที พระราชทาน​การ​เลี้ยง​แก่​สตรี​ใน​ราช​สำนัก​ของ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ด้วย
10. วันที่​เจ็ด กษัตริย์​มี​พระทัย​รื่น​เริง​ด้วย​เหล้า​องุ่น ทรง​สั่ง​เมหุ​มา บิสธา ฮาร​โบ​นา บิกธา และ​อา​บักธา เศธาร์ และ​คา​รคาส ขันที​ทั้ง​เจ็ด​คน​ซึ่ง​เป็น​ผู้รับ​ใช้​ใกล้ชิด​ของ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส
11. ให้​ไป​ทูล​เชิญ​พระ​ราชินี​วัช​ที​มา​เฝ้า​พระองค์ สวม​มงกุฎ​ราชินี​เพื่อให้​ประชาชน​และ​บรรดา​เจ้านาย​ได้​ชม​ความ​งาม​ของ​พระ​นาง เพราะ​พระ​นาง​ทรง​พระ​สิริ​โฉม​มาก
12. แต่​พระ​ราชินี​วัช​ที​ทรง​ปฏิเสธ ไม่​ยอม​เสด็จ​มา​ตาม​พระ​บัญชา​ที่​กษัตริย์​รับสั่ง​ไป​กับ​ขันที กษัตริย์​จึง​ไม่​พอ​พระทัย​อย่าง​มาก​และ​ทรง​พระ​พิโรธ
13. กษัตริย์​ทรง​ถาม​ผู้​มี​ปรีชา​ที่​รู้​กฎหมาย เป็น​ธรรม​เนียม​ใน​สมัย​นั้น​ที่​กษัตริย์​จะ​ทรง​ปรึกษา​ทุก​เรื่อง​กับ​ผู้เชี่ยวชาญ​ทาง​กฎหมาย​และ​ข้อกำหนด
14. พระองค์​จึง​ทรง​เรียก​เคาร​เช​นา เชธาร์ อัด​มาธา ทาร​ชิช เม​เรส มาร​เสนา และ​เมมู​คาน เจ้านาย​ทั้ง​เจ็ด​องค์​ของ​แคว้น​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย ที่​ปรึกษา​ใกล้ชิด​ของ​พระองค์ มี​ตำแหน่ง​สูงสุด​ใน​ราชอาณาจักร
15. ทรง​ถาม​เขา​ว่า “ตาม​กฎหมาย​จะต้อง​ทำ​อย่างไร​กับ​พระ​ราชินี​วัช​ที เพราะ​พระ​นาง​มิได้​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญชา​ของ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ซึ่ง​รับสั่ง​ไป​กับ​ขันที
16. เมมู​คาน​จึง​ทูล​ตอบ​เฉพาะ​พระ​พักตร์​และ​ต่อ​หน้า​บรรดา​เจ้านาย​ว่า “พระ​ราชินี​วัช​ที​ทรง​กระทำ​ผิด​ทั้ง​ต่อ​พระราชา ต่อ​บรรดา​เจ้านาย​และ​ต่อ​ประชาชน​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใน​เขต​ปกครอง​ทั้งหมด​ของ​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ด้วย
17. สิ่ง​ที่​พระ​ราชินี​ทรง​กระทำ​จะ​เป็น​ที่​รู้​แก่​สตรี​ทุก​คน ทำ​ให้​เขา​ดู​ถูก​สามี​ของ​ตน เขา​จะ​พูด​ว่า ‘กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​ทรง​บัญชา​ให้​พระ​ราชินี​เสด็จ​มา​เฝ้า แต่​พระ​นาง​ไม่​ยอม​เสด็จ​มา’ “
18. ตั้งแต่​วันนี้​เป็น​ต้น​ไป บรรดา​ภรรยา​ของ​เจ้านาย​แห่ง​แคว้น​เปอร์เซีย​และ​มีเดีย​จะ​ได้​ยิน​ถึง​การ​กระทำ​ของ​พระ​ราชินี และ​เล่า​ให้​เจ้านาย​ทั้งหลาย​ของ​กษัตริย์​รู้​ทั่ว​กัน ทำ​ให้​เกิด​การ​ดู​ถูก​และ​ขัด​เคือง​เป็น​อย่าง​มาก
19. ถ้า​พระราชา​พอ​พระทัย ขอให้​มี​พระ​ราช​กฤษฎีกา​จาก​พระองค์ และ​ให้​บันทึก​ไว้​ใน​กฎหมาย​ของ​ชาว​เปอร์เซีย​และ​ชาว​มีเดีย​ตลอดไป ว่า พระ​นาง​วัช​ที​จะ​เข้า​เฝ้า​กษัตริย์​อาห​สุ​เอรัส​อีก​ไม่ได้ และ​ขอ​พระราชา​ประทาน​ตำแหน่ง​พระ​ราชินี​แก่​สตรี​คน​อื่น​ที่​ดีกว่า​พระ​นาง
20. เมื่อ​พระ​ราช​กฤษฎีกา​เป็น​ที่​รู้จัก​ทั่ว​พระ​อาณาจักร​กว้าง​ใหญ่ สตรี​ทุก​คน​จะต้อง​ให้​เกียรติ​สามี​ของ​ตน​ทั้ง​ที่​มี​ฐานะ​สูง​และ​ฐานะ​ต่ำ”
21. คำแนะนำ​นี้​พอ​พระทัย​กษัตริย์​และ​พอใจ​เจ้านาย กษัตริย์​จึง​ทรง​กระทำ​ตามที่​เมมู​คาน​ทูล​เสนอ
22. พระองค์​ทรง​มี​พระ​อักษร​ส่งไป​ทุก​แคว้น​ของ​พระ​อาณาจักร แต่​ละ​แคว้น​ได้รับ​พระ​ราช​สาสน์​ที่​เขียน​ตาม​อักขระ​ใน​ภาษา​ของ​ตน สามี​ทุก​คน​จึง​เป็น​เจ้านาย​ใน​บ้าน​ของ​ตน

Chapters

12345678910